ไทย-แคนาดา เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในการประชุม Bilateral Consultations ครั้งที่ ๑

ไทย-แคนาดา เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในการประชุม Bilateral Consultations ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,119 view

นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุม Bilateral Consultations ไทย-แคนาดา ครั้งที่ ๑ ร่วมกับนาย Paul Thoppil ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา ด้านเอเชียแปซิฟิก ในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-แคนาดา ทั้งสองฝ่ายย้ำความพร้อมส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-แคนาดา โดยเฉพาะการค้าการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ความมั่นคงของมนุษย์ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ตลอดจนได้หารือถึงพัฒนาการและประเด็นท้าทายในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญร่วมกัน

เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Bilateral Consultations ไทย-แคนาดา ครั้งที่ ๑ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ ๖๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-แคนาดา (๘ พ.ย. ๒๕๖๔) โดยมีนายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และนาย Paul Thoppil ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดา ด้านเอเชียแปซิฟิก เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายแคนาดา

ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-แคนาดาที่มีพลวัตทางบวกอย่างต่อเนื่อง และได้หารือถึงแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งในมิติการป้องกันการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน โดยเฉพาะ
ด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้พลังงานและเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ของรัฐบาลไทย ด้านการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวิชาการ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งแคนาดามีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างพลวัตของความสัมพันธ์

ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการและประเด็นท้าทายที่สำคัญในภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawade-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และกรอบอาเซียน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสำคัญในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ตลอดจนประเด็นการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ