ที่ประชุมเจ้าหน้าอาวุโสไทย–สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๑๕ มุ่งกระชับความสัมพันธ์ พร้อมเจรจาความตกลงการค้าเสรี

ที่ประชุมเจ้าหน้าอาวุโสไทย–สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๑๕ มุ่งกระชับความสัมพันธ์ พร้อมเจรจาความตกลงการค้าเสรี

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,074 view

อธิบดีกรมยุโรป เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย–สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๑๕ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป โดยไทยได้เสนอการจัดตั้งกรอบการหารือด้านความมั่นคง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล และความมั่นคงทางไซเบอร์ ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง การรับมือ IUU สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม ความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค รวมถึงแสดงความพร้อมเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก และความตกลงการค้าเสรี

เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย–สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๑๕ ร่วมกับนาง Paola Pampaloni รองอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ สหภาพยุโรป (European External Action Service – EEAS) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากไทยและสหภาพยุโรปเข้าร่วม

ฝ่ายไทยได้เสนอให้จัดตั้งกรอบการหารือด้านความมั่นคง (Thai-EU Security Dialogue) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมของนายกรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อครั้งพบหารือกันที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งมั่นเดินหน้าและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นบนพื้นฐานของผลประโยชน์และค่านิยมร่วม โดยยืนยันความพร้อมที่จะเร่งรัดเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) เพื่อให้มีการลงนามโดยเร็ว และฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA)

ไทยเห็นความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือด้านมาตรฐานที่เป็นรูปธรรมกับสหภาพยุโรป เพื่อยกระดับมาตรฐานของไทยและทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีการหารือและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ (๑) การยกระดับมาตรฐานการประมงและการรับมือปัญหา IUU ในระดับภูมิภาค (๒) การพัฒนาการบังคับ ใช้กฎหมายป่าไม้ภายใต้กรอบ FLEGT-VPA (Forest Law Enforcement, Governance and Trade – Voluntary Partnership Agreement) (๓) ส่งเสริมสิทธิแรงงานในภาคประมงระดับอาเซียน (๔) ส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ โครงการที่เกี่ยวกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของ EU ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (๕) ผลักดันความร่วมมือด้านข้อมูลอวกาศและภูมิสารสนเทศ กับโครงการ Copernicus Programme ของ EU เพื่อการคาดการณ์ระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่แม่นยำยิ่งขึ้น (๖) ส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน Helicopter Emergency Medical Service (HEMS) เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ ด้านสมุทราภิบาล ความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ไทยและสหภาพยุโรปมุ่งมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในการรับมือกับการแพร่ระบาดฯ โดยเฉพาะในด้านการรักษาและการคิดค้นวัคซีน ซึ่งฝ่ายไทยต้องการผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างกันมากขึ้น โดยฝ่ายสหภาพยุโรปชื่นชมความสำเร็จของไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดฯ มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิด-๑๙ โดยมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า มีภูมิต้านทาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และมีความพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตสืบไป

ในการนี้ สหภาพยุโรปขอบคุณไทยที่สนับสนุนความประสงค์ของสหภาพยุโรปในการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรปให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) โดยพร้อมที่จะร่วมมือในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue – ACSDSD) ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยินดีกับพลวัตของความสัมพันธ์ และประสงค์ที่จะกระชับความร่วมมือกับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ

 

----------------

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ