การเดินทางเยือนประเทศไทยโดยคณะกรรมการบริหาร UNICEF (UNICEF Executive Board) ระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

การเดินทางเยือนประเทศไทยโดยคณะกรรมการบริหาร UNICEF (UNICEF Executive Board) ระหว่างวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 7,810 view

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม – ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ คณะกรรมการบริหาร UNICEF (UNICEF Executive Board) ประกอบด้วยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรคอสตาริกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (ประธาน) เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเอธิโอเปียประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสโลวาเกียประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และเอกอัครราชทูต/รองผู้แทนถาวรเดนมาร์กประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก) ได้เดินทางเยือนประเทศไทย โดยได้เข้าพบหารือกับอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสุขภาพจิต (สธ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (พม.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (ยธ.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ รวมทั้งได้เข้าพบหารือกับเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก การส่งเสริมสิทธิเด็กและการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับเด็กของไทย

นอกจากนี้ UNICEF Executive Board ยังได้พบหารือกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้แทนเยาวชนไทย ที่เข้าร่วมโครงการ “คณะกรรมการที่ปรึกษาเยาวชน UNICEF” (Young People Advisory Board หรือ YPAB) และเยี่ยมชมโครงการต่าง ๆ ที่ UNICEF ให้ความสำคัญและร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ (๑) โครงการ “ห้องสมุดเคลื่อนที่ในพื้นที่ห่างไกล” ซึ่งเป็นโครงการที่ UNICEF ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และภาคเอกชน (๒) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง UNICEF กับภาครัฐ ส่วนราชการในพื้นที่ และภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของโรงเรียน/การเรียนการสอน รวมถึงการฝึกอบรมครู การให้เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือเด็กโยกย้ายถิ่นฐานสามารถเข้าถึงการศึกษา และการป้องกันปัญหาเด็กออกจากระบอบการศึกษาอันเป็นผลจากสถานการณ์ COVID-19 (๓) โครงการ “กรอบปฏิบัติการเชียงใหม่” ซึ่ง UNICEF และมูลนิธิบ้านเด็กได้ร่วมกันพัฒนา ด้วยการสนับสนุนจาก EU ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือสำหรับภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กในครอบครัวแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในแคมป์ก่อสร้างให้ดีขึ้น และให้สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก โดยมีพัฒนาการและความคืบหน้าในหลายด้าน อาทิ การลดอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดนโยบายการเข้าถึงการศึกษา ๑๒ ปี เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน โดย UNICEF ถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของไทยเรื่องสิทธิและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชนโดยเป็นความพยายามที่สอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับทั้ง ๓ ฉบับที่ไทยเป็นภาคี

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ