สาธารณรัฐเคปเวิร์ด

สาธารณรัฐเคปเวิร์ด

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,146 view


สาธารณรัฐเคปเวิร์ด
Republic of Cape Verde

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก อยู่ห่างจากสาธารณรัฐเซเนกัลทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 500 กิโลเมตร ประกอบด้วย เกาะใหญ่ ๆ 10 เกาะ และเกาะเล็ก ๆ อีก 5 เกาะ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม Barlavento ประกอบด้วยเกาะ Santo Antao, Sao Vincente, Santa Luzia, Sao Nicolau, Sal, Boa Vista และกลุ่ม Sotavento ประกอบด้วยเกาะ Maio, Sao Tiago, Fogo Brava

พื้นที่ 4,033 ตารางกิโลเมตร (1,557 ตารางไมล์)

ประชากร 492,000 คน (ปี 2551) ประกอบด้วยชนเผ่า Creole (mulatto) ร้อยละ 71 ชาวแอฟริกัน ร้อยละ 28 และชาวยุโรป ร้อยละ 1

เมืองหลวง กรุงไปรอา (Praia) อยู่บนเกาะ Sao Tiago

เมืองสำคัญ Mindelo อยู่บนเกาะ Sao Vincente

ภูมิอากาศ โดยทั่วไปร้อนและแห้ง อากาศเย็นระหว่างเดือนธันวาคม-มิถุนายน มีฝนตกบ้างระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ปริมาณน้ำฝนแถบหมู่เกาะด้านเหนือไม่เกิน 127 มิลลิเมตร และแถบหมู่เกาะด้านใต้ไม่เกิน 304 มิลลิเมตร โดยเฉลี่ยปีละ 250 มิลลิเมตร อุณหภูมิเวลากลางวัน ประมาณ 32 องศาเซลเซียส และกลางคืนประมาณ 20 องศาเซลเซียส

เชื้อชาติ Creole (mulatto) ร้อยละ 71, African ร้อยละ28, European ร้อยละ 1

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ซึ่งผสานเข้ากับความเชื่อดั้งเดิม) และคริสต์นิกายโปแตสเตนท์

ภาษา ภาษาโปรตุเกส

หน่วยเงินตรา Cape Verde Escudos (CVE) อัตราแลกเปลี่ยน 1 CVE ประมาณ 0.423 บาท หรือ 1 บาท เท่ากับ 2.364 CVE (ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2552)

ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐ ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ นาย Pedro Verona Rodriques Pires (ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2544)
- ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยผ่านการเสนอชื่อจากรัฐสภา เป็นผู้นำรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีโดยผ่านการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นาย Jose Maria Pereira Neves (ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2544)
- ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจำนวน 72 ที่นั่ง ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ 22 มกราคม 2549) รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันคือ นาย Jose Brito
- ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูงสุดเพียงศาลเดียว

 

 

 

 

การเมืองการปกครอง

การเมืองและการปกครอง
1. การเมืองการปกครอง
1.1 เคปเวิร์ดเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และมีสถานะเป็นจังหวัดโพ้นทะเลเมื่อ 11 มิถุนายน 2494 (ค.ศ.1951) จนถึง 30 ธันวาคม 2517 (ค.ศ.1974) เมื่อโปรตุเกสได้โอนอำนาจการปกครองให้แก่รัฐบาลชั่วคราวซึ่งมีข้าหลวงใหญ่โปรตุเกสเป็นหัวหน้า ต่อมาเคปเวิร์ดได้รับเอกราชเมื่อ 5 กรกฎาคม 2518 (ค.ศ.1975) โดยนาย Aridtides Maria Pereira เลขาธิการพรรค Partido Africano da Independencia do Guine e Cabo Verde (PAICV)[1] ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรก และได้รับเลือกตั้งซ้ำอีก 2 ครั้ง ในปี 2524 และ 2529
1.2 ผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแบบหลายพรรคการเมือง ครั้งแรกเมื่อ13 มกราคม 2534 (ค.ศ.1991) ปรากฏว่า พรรค Movimento para Democracia (MPD) ได้ที่นั่งมากกว่าพรรค PAICV หัวหน้าพรรค MPD Dr. Carlos Veiga จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2534 ปรากฏว่า นาย Antonio Mascarenhas Monteiro ผู้สมัครอิสระ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรค MPD ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

1.3 การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2544 ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฎว่า พรรค PAICV ภายใต้การนำของนาย Jose Maria Neves ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 47.9 มากกว่าพรรค Mouvement pour la democratie (MPD) ซึ่งได้คะแนนร้อยละ 39.2 ทำให้พรรค PAICV ได้ที่นั่งสมาชิกสภาจำนวน 40 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 72 ที่ ซึ่งถือเป็นคะแนนเสียงส่วนใหญ่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด และการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2549 พรรค PAICV ยังคงได้รับเลือกตั้งจำนวน 41 ที่นั่ง ชัยชนะในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งดังกล่าวของพรรค PAICV มีผลนำไปสู่ชัยชนะของผู้สมัครจากพรรค PAICV ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และอีกสมัยหนึ่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ของนาย Pedro Verona Rodriques Pires

1.4 อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้ง รัฐบาลได้ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องด้วยข้อกล่าวหาคอรัปชั่น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นวิธีที่พรรคฝ่ายค้านนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก จนนำไปสู่ความพยายามที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างพรรค PAICV และพรรค MPD เพื่อสะสางปัญหาที่มีอยู่ แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จเมื่อเกิดความไม่เห็นพ้องในเรื่องสมาชิกของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ปรับปรุงใหม่ จนทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเลื่อนออกไป แม้ว่าการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมจะไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก แต่นับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในด้านความมั่นคงทางการเมือง จนมีผลทำให้สหภาพยุโรปมอบสถานะความเป็นหุ้นส่วนพิเศษ (special partnership) ให้กับเคปเวิร์ดในปี 2550

2. เศรษฐกิจ

2.1 เคปเวิร์ดมีสภาพเป็นหมู่เกาะ อยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความแห้งแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาไฟที่มอดแล้ว มีที่ราบพอจะใช้เพาะปลูกได้เพียง 3-4 เกาะ และจะพบไม้ยืนต้นเฉพาะในบริเวณหุบเขา ทั้งนี้ เกาะ Sao Tiago มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมจึงมีขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ประชากรมีจำนวนน้อย โดยในอดีตมีทาสจากแผ่นดินแอฟริกาอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวเคปเวิร์ดที่แท้จริงจำนวนมาก (มากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศ) ได้อพยพออกไปอยู่ประเทศอื่นในช่วงการปกครองแบบสังคมนิยมและมีปัญหาขาดแคลนอาหารบ่อยครั้ง

2.2 ภาคการบริการ (services sector) โดยหลักคือ การท่องเที่ยว การขนส่ง การพาณิชย์ การบริการภาครัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76 ของ GDP (ข้อมูลปี 2549) เป็นภาคเศรษฐกิจหลักของเคปเวิร์ด อันเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ เกลือ หินภูเขาไฟ หินปูน ยิปซั่ม เป็นต้น สินค้าส่งออกหลักคือ น้ำมัน (re-export) ปลา เสื้อผ้า และรองเท้า ประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส สเปน และญี่ปุ่น


3. นโยบายต่างประเทศ

3.1 เคปเวิร์ดดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มีความใกล้ชิดกับโปรตุเกสทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ และมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับประเทศในทวีปแอฟริกาที่พูดภาษาโปรตุเกส อาทิ แองโกลา โมซัมบิก กินีบิสเซา เซาตูเมและปรินซิเป ด้วย

3.2 เคปเวิร์ดเล็งเห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในกลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป จนนำไปสู่การมอบสถานะความเป็นหุ้นส่วนพิเศษให้กับเคปเวิร์ด โดยสหภาพยุโรปกับเคปเวิร์ดจะร่วมมือกันใน 7 สาขา อาทิ บรรษัทภิบาล (good governance) ความปลอดภัยและความมั่นคง การรวมกลุ่มระหว่างภูมิภาค (regional integration) และการต่อสู้กับปัญหาความยากจน เป็นต้น

3.3 อย่างไรก็ตาม เคปเวิร์ดยังคงแสวงหาความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South co-operation) โดยเฉพาะกับบราซิลและจีน เพื่อเสริมสร้างผลประโยชน์ด้านการค้า โดยในปี 2550 จีนได้ประกาศให้เคปเวิร์ดเป็น 1 ใน 6 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะเป็นแหล่งกระจายสินค้าของจีนสู่แอฟริกา

3.4 สำหรับบทบาทในระดับภูมิภาค เคปเวิร์ดเป็นสมาชิกที่มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Lusophone Africa) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2539 นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิก African Union และ Economic Community of West African States (ECOWAS) และอีกหลายองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ ตลอดจนสมาชิกองค์กรการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งในภูมิภาค (Permanent Inter-State Committee on Drought Control in the Sahel) ด้วย สำหรับในกรอบ UN เคปเวิร์ดได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก Economic and Social Council (ECOSOC) วาระปี ค.ศ. 2008-2010

 

 

 

 

 

เศรษฐกิจการค้า

ข้อมูลเศรษฐกิจทัวไป

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1.725 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว 2,927 ดอลลาร์สหรัฐ

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.9

 

 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเคปเวิร์ด

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
1. ความสัมพันธ์ทั่วไป
1.1 การทูต
ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐเคปเวิร์ดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2529 โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้ สอท.ณ กรุงดาการ์ มีเขตอาณาครอบคลุมเคปเวิร์ดส่วนเคปเวิร์ดยังมิได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำไทยหรือมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตแห่งใดมีเขตอาณาครอบคลุมไทย
1.2 เศรษฐกิจ
1.2.1 การค้า
ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีความราบรื่น ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยังคงมีไม่มากนัก จากข้อมูลปี 2551 มูลค่าการค้าระหว่างกันมีจำนวนประมาณ 7.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกทั้งหมด และไม่มีการนำเข้าสินค้าใดจากเคปเวิร์ด สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และสินค้าสำคัญที่ไทยเคยนำเข้าจากเคปเวิร์ด ได้แก่ ยางไอโซบิวทิน ไอโซฟริน(บิวทิล) ขั้นปฐม
1.2.2 การลงทุน
ยังไม่ปรากฏข้อมูลการลงทุนระหว่างกัน
1.2.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2551 มีนักท่องเที่ยวชาวเคปเวิร์ดเดินทางมาไทยจำนวน 59 คน
1.3 ความร่วมมือทางวิชาการ
ปัจจุบันไทยความช่วยเหลือทางวิชาการกับเคปเวิร์ด โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไทยกำหนดให้อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของไทย (Thai Aid Programme) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือในรูปทุนศึกษา/ฝึกอบรม และดูงานในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาที่ไทยมีความชำนาญและเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาธารณสุข และการศึกษา

2. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย
ไม่มีความตกลงระหว่างกัน

3. การเยือนที่สำคัญ
ไม่มีการเยือนในระดับสูงระหว่างกัน

************************

ตุลาคม 2552


กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5000 ต่อ 2038 E-mail : [email protected]