สาธารณรัฐบอตสวานา

สาธารณรัฐบอตสวานา

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 10,967 view


สาธารณรัฐบอตสวานา
Republic of Botswana

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง บอตสวานาตั้งอยู่ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับนามิเบีย ทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับแอฟริกาใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับซิมบับเว

พื้นที่ 581,730 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงกาโบโรน (Gaborone)

ประชากร 2.07 ล้านคน (ปี 2554) ประกอบด้วยชนเผ่า Tswana (หรือ Setswana) ร้อยละ 79 Kalanga  ร้อยละ 11 Basarwa ร้อยละ 3 Kgalagadi ชาวยุโรปและอื่น ๆ ร้อยละ 7

ภูมิอากาศ ฤดูร้อนเริ่มจากปลายเดือนตุลาคมจนถึงเดือนมีนาคม ทางทิศเหนือและทางทิศใต้ฝั่งตะวันตก เป็นส่วนที่ร้อนที่สุดของประเทศ ฤดูหนาวเริ่มจากปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนสิงหาคม

ภาษาราชการ อังกฤษ และ Setswana

ศาสนา คริสต์ร้อยละ 71.6 ไม่นับถือศาสนาร้อยละ 20.6  บาดิโม (Badimo) ร้อยละ 6 อื่น ๆ ร้อยละ 1.4 ไม่ระบุร้อยละ 0.4

หน่วยเงินตรา  ปูลาบอตสวานา (Botswana Pula - BWP) อัตราแลกเปลี่ยน 1 BWP ประมาณ 4.16 บาท (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2555)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 16.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)  

รายได้ประชาชาติต่อหัว 16,279 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554)          

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 5.4 (ปี 2554)

ระบอบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ เป็นระบบสองสภา โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาล ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเซเรตเซ  คามา เอียน คามา (Seretse Khama Ian Khama) (ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เป็นสมัยที่ 2)

นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การเมืองการปกครอง

บอตสวานาปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นผู้นำรัฐบาลด้วย ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี แต่ไม่เกิน 2 สมัย รองประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นระบบสองสภา ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้นำ (House of Chiefs) จำนวน 15 ที่นั่ง (8 ที่นั่งเป็นของผู้นำชนเผ่าสำคัญในบอตสวานา / 4 ที่นั่งเป็นของรองผู้นำชนเผ่าสำคัญที่ได้รับเลือก / และอีก 3 ที่นั่งมาจากการคัดเลือกของสมาชิกสภาผู้นำ 12 คน) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 63 ที่นั่ง (57 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง / 4 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งโดยพรรครัฐบาล / และอีก 2 ที่นั่งเป็นของประธานาธิบดีและอัยการสูงสุด) สมาชิกทั้งหมดมีวาระ 5 ปี (เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552) ฝ่ายตุลาการประกอบด้วยศาลสูง ศาลอุทธรณ์ และศาลปกครองตามเขตการปกครอง อีก 9 ศาล (เขตปกครองละ 1 ศาล)

บอตสวานาเดิมมีชื่อเรียกว่า เบชูอานาแลนด์ (Bechuanaland) อยู่ในความปกครองของอังกฤษมาตั้งแต่ ปี 2429 ชาวบอตสวานาเรียกตัวเองว่า Batswana (เอกพจน์: Motswana) ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งสหภาพแอฟริกาใต้ขึ้นในปี 2452 ได้มีความพยายามที่จะควบรวมบอตสวานาด้วย แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 2507 อังกฤษจึงยินยอมให้บอตสวานาปกครองตนเองได้ และมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2508 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น นายเซเรตเซ คามา (Seretse Khama) (บิดาของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน) ซึ่งเป็นผู้นำการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพในบอตสวานา ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2509 บอตสวานาได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากอังกฤษ และได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นบอตสวานาอย่างสมบูรณ์ โดยมีนายเซเรตเซ คามา เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก และปกครองจนถึงปี 2523

เมื่อเดือนเมษายน 2551 อดีตประธานาธิบดีเฟตุส โมเกย์ (Fetus Mogae) ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกันถึง 2 สมัย (2541 - 2546 และ 2546 - 2551) ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้แก่นายเซเรตเซ คามา เอียน คามา (Seretse Khama Ian Khama) ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและประธานพรรค Botswana Democratic Party (BDP) จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย Sandhurst ของอังกฤษ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้บังคับการกองกำลังป้องกันตนเองบอตสวานา (Botswana Defense Force - BDF) และรองประธานาธิบดี (2541 - 2551)

บอตสวานาจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 และพรรค BDP ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร คือ 45 จาก 57 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2547) และได้คะแนนเสียงร้อยละ 53 ส่งผลให้หัวหน้าพรรค คือ นายเอียน คามา เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 โดยทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552

ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคฝ่ายค้านหลักคือ พรรค Botswana National Front (BNF) ได้รับเลือกตั้ง 6 ที่นั่ง (ลดลง 6 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน) และได้คะแนนเสียงร้อยละ 22  พรรคฝ่ายค้าน Botswana Congress Party (BCP) ซึ่งก่อตั้งโดยผู้ที่แยกออกมาจากพรรค BNF ได้รับเลือก 4 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 3 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน อย่างไรก็ตาม เป็นการได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในส่วนที่เคยเป็นที่นั่งของพรรค BNF เดิม) และได้คะแนนเสียงร้อยละ 19 ส่วนที่นั่งที่เหลืออีก 2 ที่นั่ง เป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค Botswana Alliance Movement (BAM) ซึ่งเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งครั้งนี้กับพรรค BCP 1 คน และผู้สมัครอิสระอีก 1 คน

บอตสวานาเป็นหนึ่งในประเทศแอฟริกาเพียงไม่กี่ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องมายาวนาน นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร ในด้านการบริหาร บอตสวานาเป็นประเทศที่มีอัตราการฉ้อราษฎร์บังหลวงต่ำที่สุดในแอฟริกา และไม่มีปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัจจุบัน บอตสวานามีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจการคลังมั่นคงที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา

เศรษฐกิจและสังคม

เศรษฐกิจของบอตสวานามีศักยภาพสูง และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การผลิตและการค้าเพชร บอตสวานาเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกในเชิงมูลค่า และเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในเชิงปริมาณ (รองจากออสเตรเลีย) 

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมและการค้าเพชรของบอตสวานาถูกผูกขาดโดยบริษัท Debswana (บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลบอตสวานากับบริษัท De Beers ของแอฟริกาใต้) อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา รัฐบาลบอตสวานายกเลิกการผูกขาดของ De Beers และให้ตลาดค้าเพชรในบอตสวานาเป็นตลาดเปิด โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะกระจายรายได้และผลกำไรจากอุตสาหกรรมเหมืองเพชรและการค้าเพชรไปสู่นักธุรกิจและแรงงานท้องถิ่นให้กว้างขวางขึ้น การยกเลิกการผูกขาดของ De Beers ส่งผลดีให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเข้าเพชรจากบอตสวานาได้โดยตรง

ในปัจจุบัน รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางเศรษฐกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพาเฉพาะอุตสาหกรรมและการค้าเพชรเพียงอย่างเดียว นอกจากเพชรแล้วทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของบอตสวานาได้แก่ ทองแดงและนิกเกิล สินค้าส่งออกที่สำคัญของบอตสวานาได้แก่ เพชร ทองแดง นิกเกิล และเนื้อวัว นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบซาฟารี โดยมีเป้าหมายที่ตลาดระดับบน ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี

แม้จะได้รับการยกย่องในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารประเทศ แต่บอตสวานาเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อเอดส์สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากสวาซิแลนด์) โดย 1 ใน 3 ของประชากรผู้ใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS

บอตสวานากำลังประสบปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ เนื่องจากบอตสวานาซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่จากบริษัท ESKOM ของแอฟริกาใต้ และ ESKOM กำลังประสบปัญหาวิกฤตพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศแอฟริกาใต้เอง

นโยบายต่างประเทศ

บอตสวานาเป็นประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ได้แก่ Southern African Customs Union (SACU), Southern African Development Community (SADC) และ African Union (AU)

ความสัมพันธ์กับแอฟริกาใต้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านการค้าที่มีมายาวนาน ส่วนด้านการเมืองเพิ่งจะเริ่มพัฒนาภายหลังจากสิ้นสุดยุคนโยบายเหยียดผิว (Apartheid) ในแอฟริกาใต้ บอตสวานาดำเนินนโยบายทางการทูตแบบไม่แสดงท่าทีที่เปิดเผยไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ (หรือที่เรียกว่า Quiet Diplomacy) ต่อกรณีสถานการณ์การเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคแอฟริกา เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ โดยต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศและยืดถือหลักการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศโดยสันติวิธี สำหรับนโยบายต่างประเทศโดยทั่ว ๆ ไปนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสหภาพแอฟริกา

ความสัมพันธ์กับซิมบับเวเสื่อมถอยลงในรอบหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างเป็นทางการจะมีลักษณะที่เป็นมิตรต่อกัน แต่ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวซิมบับเวเข้ามาในบอตสวานาสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เนื่องจากโดยมากเป็นลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายซิมบับเวไม่แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่งผลให้อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีเอียน คามา เข้ามาบริหารประเทศ นโยบายต่างประเทศมีความแข็งกร้าวขึ้นพอสมควร โดยมีการแสดงท่าทีต่อกรณีความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเปิดเผยมากขึ้น ล่าสุด ได้เสนอเป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองให้กับนายมอร์แกน แชงการาย (Morgan Tsvangirai) ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของซิมบับเว

ความสัมพันธ์กับนามิเบียเป็นไปโดยสงบ แม้ว่าจะมีปัญหาบริเวณชายแดน ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิเหนือเกาะในแม่น้ำ Chobe ที่แบ่งบอตสวานาตอนเหนือออกจากบริเวณ Caprivi Strip ของนามิเบีย ภายหลังศาลยุติธรรมโลกได้ตัดสินให้เกาะดังกล่าวเป็นของบอตสวานา ซึ่งนามิเบียยอมรับคำพิพากษาด้วยดี กรณีบอตสวานาปฏิเสธที่จะให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ผู้เรียกร้องแบ่งแยกดินแดนใน Caprivi Strip ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับนามิเบียดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาการแย่งใช้น้ำในแม่น้ำ Okavango ยังเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อความขัดแย้ง

บอตสวานามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งประเทศในโลกตะวันตกและตะวันออก ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งต้องการความช่วยเหลือทั้งเงินทุนและวิชาการสมัยใหม่จากนานาประเทศ โดยไม่แบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมือง อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า บอตสวานามีความใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกมากกว่า เนื่องจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เยอรมนี อังกฤษ สหรัฐฯ และแคนาดา รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น EU และ World Bank ได้บริจาคเงินทุนช่วยเหลือแก่บอตสวานาเป็นจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีระหว่างประเทศ คือ นโยบายอพยพชาว San (หรือชาว Basarwa) ออกจากบริเวณ Central Kalahari Game Reserve ซึ่งเป็นแหล่งแร่เพชรขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าดำเนินการไปเพื่อต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับชาว San แต่สุดท้าย ศาลสูงได้มีคำพิพากษาให้ระงับนโยบายดังกล่าว

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทั่วไป

การทูต

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับบอตสวานาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528 โดยฝ่ายบอตสวานามอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐบอตสวานาประจำญี่ปุ่น มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐบอตสวานาประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นายพูลาเอนต์เล  ทูเมดิโซ เคโนซี (Pulaentle Tumediso Kenosi) โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงโตเกียว ส่วนฝ่ายไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย มีเขตอาณาครอบคลุมบอตสวานา เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐบอตสวานาคนปัจจุบันคือ นายนนทศิริ บุรณศิริ ซึ่งมีถิ่นพำนัก ณ กรุงพริทอเรีย นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2551 ไทยได้แต่งตั้งให้นายอิชเมอิล ทาดาเอดซา อึนชาคาซโฮกเว (Ishmael Takaedza Nshakazhogwe) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำบอตสวานา แทนนายแคม โฮ อีวาน โล (Kam Ho Ivan Lo) ซึ่งเคยเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำบอตสวานาระหว่างเดือนมิถุนายน 2545 - เดือนมิถุนายน 2548 (นายโลถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกศาลฝรั่งเศสตัดสินจำคุกเป็นเวลา 4 ปี ในความผิดฐานให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวเข้าฝรั่งเศสโดยผิดกฎหมาย) และบอตสวานาได้แต่งตั้งให้นายไพรัช บูรพชัยศรี ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์บอตสวานาประจำประเทศไทย

ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-บอตสวานาราบรื่น ไม่มีปัญหาระหว่างกัน โดยประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอตสวานา มีหนังสือแสดงความยินดีมาถึงนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ทุกครั้ง แต่ยังไม่เคยมีการเยือนระดับราชวงศ์ของไทย

เศรษฐกิจ

การค้า

การค้ารวมระหว่างไทยและบอตสวานา ในปี 2554 มีมูลค่า 76.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 3.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 72.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยขาดดุลการค้า 68.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับบอตสวานามาหลายปีติดต่อกัน) สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปบอตสวานา อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เคหะสิ่งทอ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด เครื่องนุ่งห่ม ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่ไทยนำเข้าจากบอตสวานา ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ด้ายและเส้นใย และเคมีภัณฑ์

การลงทุน

บอตสวานาเป็นประเทศที่มีบรรยากาศเหมาะแก่การลงทุน เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพ และนโยบายด้านการเงินการคลังเอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง มีการคอรัปชั่นต่ำ และมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน และโทรคมนาคม ที่ได้มาตรฐาน รัฐบาลบอตสวานามีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Economic Diversification) เพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมเพชรแต่เพียงอย่างเดียว (เศรษฐกิจบอตสวานาพึ่งพาการค้าเพชรอย่างมาก โดย 2 ใน 3 ของรายได้ประเทศมาจากการค้าเพชร) โดยต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (Foreign Direct Investment) เพื่อช่วยในการพัฒนาภาคการเกษตร ปศุสัตว์ สิ่งทอ และธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว และการเงินการธนาคาร ซึ่งสาขาธุรกิจเหล่านี้ เป็นสาขาที่ภาคเอกชนไทยมีความชำนาญ ภาคเอกชนไทยควรศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุน ใช้บอตสวานาเป็นฐานการผลิต เปิดตลาดในบอตสวานา และขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ปริมาณการลงทุนระหว่างไทยกับบอตสวานายังมีน้อย นักธุรกิจของทั้งสองประเทศยังไม่มีความคุ้นเคยกันและมีข้อมูลข่าวสารการค้าระหว่างกันน้อยมาก เนื่องจากบอตสวานาเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และที่ผ่านมาไทยใช้ประเทศแอฟริกาใต้เป็นฐานในการส่งออกสินค้าไปยังบอตสวานา ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพต่อการลงทุนของภาคเอกชนไทย ได้แก่ สาขาที่บอตสวานาขาดเทคโนโลยีและไทยมีความชำนาญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบ อาทิ การเจียระไนเพชร การประกอบตัวเรือนอัญมณีและเครื่องประดับ การฟอกหนังวัวเพื่อใช้ในอุตสาหกรมเครื่องหนัง การก่อสร้าง และการให้บริการด้านการท่องเที่ยว (รัฐบาลบอตสวานามีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นที่จะเจาะตลาดนักท่องเที่ยวระดับบน เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ แบบซาฟารี ชมชีวิตสัตว์ป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์)

การท่องเที่ยว

ในปี 2554 มีชาวบอตสวานาเดินทางมาไทยจำนวน 586 คน และมีคนไทยอาศัยอยู่ในบอตสวานาจำนวน 5 คน โดยทำงานในธุรกิจร้านอาหารและเป็นคู่สมรสของชาวบอตสวานาและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบอตสวานา

ความร่วมมือทางวิชาการ

ไทยและบอตสวานามีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) ดำเนินการโดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร) สาขาความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่

ด้านการศึกษา

เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 ฝ่ายไทย (โดยการดำเนินงานของ สพร และ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) ได้ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีแก่นักศึกษาบอตสวานา ในสาขาประกันภัยและวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 5 ทุน โดยนักศึกษาบอตสวานาจำนวน 5 คน ปัจจุบัน กำลังศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โครงการนี้ดำเนินงานในลักษณะ partial scholarships ซึ่งฝ่ายบอตสวานารับผิดชอบค่าเดินทางระหว่างประเทศ และฝ่ายไทยรับผิดชอบค่าเล่าเรียน ที่พัก และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในไทย

คณะผู้แทนไทย นำโดยผู้อำนวยการ สพร และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) เยือนบอตสวานา ระหว่างวันที่ 22 - 23 มีนาคม. 2552 เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษากับผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการของบอตสวานา หลังจากนั้น รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการบอตสวานา เยือนไทยเพื่อดูงานด้านอุดมศึกษาระหว่างวันที่ 22 - 30 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้ นายกนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาไทยเดินทางเยือนบอตสวานา เพื่อสร้างความสัมพันธ์และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2552

พัฒนาการล่าสุดของความร่วมมือด้านการศึกษา สพร ร่วมกับ สถาบันการศึกษาไทย 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยสงขลา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมแก่บอตสวานา รวมทั้งหมด 10 ทุน โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 ในขณะที่ฝ่ายบอตสวานาเตรียมวางแผนส่งนักเรียนทุนรัฐบาลบอตสวานามาศึกษาระดับปริญญาตรีในไทย จำนวน 50 คน ในปีการศึกษา 2553 – 2554 (ข้อมูลภูมิหลัง - ในปัจจุบัน ชาวบอตสวานาที่มีฐานะนิยมส่งลูกหลานไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย และมาเลเซียเป็นจำนวนมาก นักศึกษาชาวบอตสวานาซึ่งรับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลกำลังศึกษาต่อที่มาเลเซียเป็นจำนวนมากถึง 1,200 คน ส่วนมหาวิทยาลัยไทยยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในบอตสวานา ขณะนี้ สพร พร้อม สกอ กำลังดำเนินงานประชาสัมพันธ์การศึกษาไทยให้เป็นที่รู้จักในบอตสวานามากขึ้น โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนการเยือนของ จนท. อาวุโส ด้านการศึกษา เพื่อพบหารือถึงแนวทางการขยาย ครม. ด้านการศึกษา)

ด้านสาธารณสุข

บอตสวานามองว่าไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก รัฐบาลบอตสวานาจึงประสงค์ขอรับความร่วมมือด้านการต่อสู้ HIV/AIDS จากไทย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยโดย สพร และกระทรวงสาธารณสุข เคยมีโครงการจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่บอตสวานาในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่าน แต่ขณะนั้น ฝ่ายบอตสวานาติดขัดเรื่องการจัดการภายใน จึงไม่พร้อมรับผู้เชี่ยวชาญไทย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบอตสวานาซาบซึ้งในความตั้งใจจริงของไทย (good will) และประสงค์จะขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาส่งผู้เชี่ยวชาญไทยไปบอตสวานาอีกครั้งเมื่อบอตสวานาพร้อม

ด้านเกษตรกรรม

บอตสวานายังขาดการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และปัจจัยแวดล้อมในบางพื้นที่เอื้อต่อการเพาะปลูก แต่ผลผลิตด้านเกษตรเพื่อเป็นอาหารยังอยู่ในระดับต่ำ จึงประสงค์จะขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรจากไทย

ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ

บอตสวานาตอบรับการแลกเสียงสนับสนุนระหว่างการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council - HRC) แห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2010-2013 ของไทย (ซึ่งไทยได้รับเลือกตั้งในที่สุด) กับการสมัครสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการบริหารและงบประมาณ (Advisory Committee on Administrative and Budgetary Questions - ACABQ) ภายใต้การประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2010-2012 ของบอตสวานา (ซึ่งบอตสวานาได้รับเลือกตั้งเช่นกัน)

ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย

ความตกลงที่ได้ลงนามแล้ว

- ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านการค้า

- พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่างประเทศไทย – กระทรวงต่างประเทศบอตสวานา

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำ

- ความตกลงว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน

- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ

การเยือนที่สำคัญ

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

ไม่มีการเสด็จฯ เยือน

นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี / เจ้าหน้าที่ระดับสูง

- วันที่ 15 - 17 พฤศจิกายน 2548 นายวีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนสาธารณรัฐบอตสวานาเพื่อเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Comprehensive Response to HIV/AIDS Prevention and Care และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายเฟตุส โมเกย์ (Fetus Mogae) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐบอตสวานา และนายมอมปาติ เมราเฟฮ์ (Mompati Merafhe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอตสวานา

- วันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2552 นายกนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นำคณะผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาไทยเดินทางเยือนบอตสวานาและนามิเบีย เพื่อสร้างความสัมพันธ์และหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา

ฝ่ายบอตสวานา

ประธานาธิบดี / นายกรัฐมนตรี / คณะรัฐมนตรี

- เดือนตุลาคม 2534 นายเฟตุส โมเกย์ (Fetus Mogae) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและการวางแผนพัฒนาบอตสวานา เข้าร่วมประชุมประจำปีธนาคารโลกและองค์การการเงินระหว่างประเทศที่กรุงเทพฯ

- เดือนกุมภาพันธ์ 2543 นายแดเนียล ควาลาโกเบ (Daniel Kwalagobe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมบอตสวานา เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ครั้งที่ 10 (UNCTAD X) ที่กรุงเทพฯ

- วันที่ 16 กรกฎาคม 2545 นายเฟตุส โมเกย์ (Fetus Mogae) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐบอตสวานา แวะผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย

- วันที่ 3 - 9 สิงหาคม 2546 นางบาบาร่า โมเกย์ (Barbara Mogae) ภริยาประธานาธิบดีสาธารณรัฐบอตสวานา พร้อมด้วยบุตรสาว เดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัว

- วันที่ 1 - 3 กันยายน 2546 นายเฟตุส โมเกย์ (Fetus Mogae) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐบอตสวานา เยือนไทยในฐานะแขกของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เพื่อเข้าร่วมการประชุม ESCAP สมัยที่ 59 ที่กรุงเทพฯ และกล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับปัญหาโรคเอดส์

- วันที่ 27 มีนาคม – 1 เมษายน 2553 นางสาวมาร์กาเร็ต นาชา (Margaret N. Nasha)ประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 122 ที่กรุงเทพฯ

************************

มิถุนายน 2555

กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-48

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ