เครือรัฐโดมินิกา

เครือรัฐโดมินิกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 13,023 view


เครือรัฐโดมินิกา
Commonwealth of Dominica

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน ทางทิศใต้ของประเทศแอนติกาและบาร์บูดา

พื้นที่ 751 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ แบบร้อนชื้น ฝนตกชุก

ประชากร 72,813 คน (2553)

เมืองหลวง กรุงโรโซ (Roseau)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 77 นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 15 นิกายอื่นๆ ร้อยละ 6 ไม่นับถือศาสนาร้อยละ 2

เชื้อชาติ ผิวดำร้อยละ 86.8 เชื้อสายผสมร้อยละ 8.9 ชนพื้นเมืองร้อยละ 2.9 อื่นๆ ร้อยละ 1.5

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 94 (2546)

หน่วยเงิน ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.70 ดอลลาร์แคริบเบียนตะวันออก
วันชาติ 3 พฤศจิกายน (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1978)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ความตกลงอัลบา (Bolivarian Alternative for the Peoples of our America and the People’s - ALBA) กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom) เครือจักรภพ (The Commonwealth) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแคริบเบียน (Caribbean Development Bank - CDB) Organization of Eastern Caribbean States (OECS), ITU, OAS, NAM, PetroCaribe, UN , WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา

ประมุขของรัฐ ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ คนปัจจุบันคือ นาย Nicholas J. O. Liverpool ซึ่งเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2551 (สมัยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2546)

ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ นาย Roosevelt Skerrit ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 8 มกราคม 2547 (ต่อจากนาย Pierre Charles ซึ่งถึง แก่กรรมเมื่อปี 2547 และในการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 นาย Skerrit ชนะการเลือกตั้งและได้รับการเลือกตั้งซ้ำ เมื่อปี 2551)

ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสภาเดียว เรียกว่า House of Assembly ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 30 คนที่มาจากการแต่งตั้ง 9 คน และเลือกตั้งในระบบ Popular vote จำนวน 21 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นภายใน ปี 2558

ฝ่ายตุลาการ ศาลฎีกาแคริบเบียนตะวันออก (Eastern Caribbean Supreme Court) ประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 6 คน โดยมีผู้พิพากษา 1 คนที่พำนักในโดมินิกา และเป็นประธานศาล Court of Summary Jurisdiction

สถานการณ์สำคัญทางการเมือง

นาย Roosevelt Skerrit จากพรรคแรงงานโดมินิกา (Dominica Labour Party – DLP) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองเมื่อปี 2551 อย่างง่ายดาย ด้วยการชูนโยบายเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้พรรคแรงงานโดมินิกาสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ รัฐบาลของนาย Skerrit ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนของรัฐบาลเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตั้งแต่การสร้างที่อยู่อาศัย การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นโยบายต่างประเทศ

ในระดับภูมิภาค รัฐบาลของนาย Sherrit ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา อาทิ เวเนซุเอลา และคิวบา ทำให้โดมินิกาได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากประเทศเหล่านี้เป็นการตอบแทน นอกจากนี้ โดมินิกาได้ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกความตกลงอัลบา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของประเทศในลาตินอเมริกาที่ต่อต้านแนวทางด้านเศรษฐกิจเสรีนิยมอีกด้วย

ส่วนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกายังคงดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยโดมินิกาได้รับความช่วยเหลือ จากสหรัฐฯ ผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภายในประเทศ ด้านเศรษฐกิจ โดมินิกาพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจเอกชนของสหรัฐฯ เป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดในโดมินิกาในปัจจุบันนอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติด โดยได้ลงนามให้ความตกลงว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญาและการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อปี 2539

เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.6 (2551)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 5,446.5 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 24.9 (2551)

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ปิโตรเลียม ปลา ก๊าซธรรมชาติ เหมืองหิน

มูลค่าการส่งออก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ กล้วย ผัก ส้มโอ สบู่ ส้ม น้ำมันจากต้นอบเชย

มูลค่าการนำเข้า 232.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องจักร เคมีภัณฑ์

ประเทศคู่ค้า จาเมกา แอนติกาและบาร์บูดา ฝรั่งเศส กายอานา ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ตรินิแดดและโตเบโก

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ

เครือรัฐโดมินิกาได้รับการยกย่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟถึงความสำเร็จในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาค อย่างไรก็ดี โดมินิกายังต้องเร่งลดหนี้สาธารณะปรับปรุงกฎระเบียบภาคการเงิน และการพัฒนาความหลากหลายของตลาด
เศรษฐกิจโดมินิกายังคงพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร (โดยเฉพาะ กล้วย ซึ่งปริมาณการผลิตผันผวนอย่ามากตามภาวการณ์ทางธรรมชาติ) นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมเกษตรและสร้างโรงกลั่นน้ำมันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโดมินิกาไม่ขยายตัวมากนักเนื่องจากโครงสร้างสาธารรณูปโภคยังไม่พัฒนา และมีสนามบินนานาชาติไม่เพียงพอ อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและป่าไม้ทำให้ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นชายหาดสวยงามเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อปี 2552 นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญเข้าเทียบท่าโดมินิกาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52 ด้วยกัน อันเป็นผลมาจากการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญขององค์การการท่องเที่ยวแคริบเบียน (The Caribbean Tourism Organization)

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเครือรัฐโดมินิกา

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยและโดมินิกามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการกับโดมินิกา

เมื่อปี 2548 ไทยจัดโครงการเชิญผู้แทนจากประเทศ CARICOM เยือนไทย เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแคริบเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่บทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งโดมินิกาเป็นหนึ่งในสมาชิก CARICOM ที่ได้ให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในประเทศไทย

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 0.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับโดมินิกามูลค่า 0.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป วงจรพิมพ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล รองเท้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

ในปี 2553 มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน มีมูลค่ารวม 7.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 7.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้ามูลค่า 0.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าโดมินิกาถึง 7.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ในระดับทวิภาคี ไทยและโดมินิกายังไม่มีการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน อย่างไรก็ดี ในระดับพหุภาคีนั้น ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือกับโดมินิกา โดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษาผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM)


ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 18 มกราคม 2554 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ