บาร์เบโดส

บาร์เบโดส

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 9,690 view


บาร์เบโดส
Barbados

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง เป็นเกาะตั้งอยู่ด้านตะวันออกสุดของทะเลแคริบเบียน ห่างจากเวเนซุเอลาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 460 กิโลเมตร

พื้นที่ 431 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ กึ่งร้อนชื้น และร้อนชื้น

ประชากร 256,600 คน (2553)

เมืองหลวง กรุงบริดจ์ทาวน์ (Bridgetown)

ภาษา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

ศาสนา คริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 67 โรมันคาทอลิก ร้อยละ 4 ไม่นับถือศาสนา ร้อยละ 17

เชื้อชาติ เชื้อสายแอฟริกัน ร้อยละ 90 เชื้อสายยุโรป ร้อยละ 4 เชื้อสายเอเชียหรือผสม ร้อยละ 6

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 99.7 (2548)

หน่วยเงิน ดอลลาร์บาร์เบโดส (Barbados Dollar) โดยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2 ดอลลาร์บาร์เบโดส

วันชาติ 30 พฤศจิกายน (วันประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1966)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ กลุ่มประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-Caricom) เครือจักรภพ (The Commonwealth) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแคริบเบียน (Carribean Development Bank - CDB) สมาคมรัฐแคริบเบียน (Association of Carribean States – ACS), G-77, ICAO, ITU, OAS, NAM, UN และ WTO เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ

ประมุขของรัฐ สมเด็จพระราชชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ คนปัจจุบันได้แก่ Sir Clifford Straughn HUSBANDS ซึ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2539

ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คนปัจจุบันได้แก่ นาย Freundel Stuart ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อตุลาคม 2553 ภายหลังการเสียชีวิตของนาย David Thompson อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2551

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาคู่ ประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิก 21 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (7 คน) และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรี (12 คน) และตามคำแนะนำของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน (2 คน) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 30 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แบบแบ่งเขตๆ ละ 1 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปจะจัดขึ้นอย่างช้าที่สุดภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2556

ฝ่ายตุลาการ ใช้ระบบกฎหมาย Common Law ตามแบบอังกฤษ

สถานการณ์สำคัญทางการเมือง
การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนาย David Thompson ของนาย Freundel Stuart ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนาย Thompson เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เชื่อได้ว่า นโยบายการบริหารประเทศของพรรค Democratic Labour Party (DLP) ซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภาบาร์เบโดสจะมีความต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกสามปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเมืองภายในของบาร์เบโดส มีความท้าทายที่นาย Stuart ต้องเผชิญคือการรักษาคะแนนนิยมจากประชาชนที่ลดต่ำลงเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของประเทศ ซึ่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ นาย Stuart มีคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญคือนาย Chris Sinckler รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ ซึ่งมีบุคลิกโดดเด่น และได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่อาจจะก้าวขึ้นมาท้าทายตำแหน่งผู้บริหารประเทศของนาย Stuart ในอนาคต

นโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลบาร์เบโดสให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยพยายามผลักดันให้พื้นที่ทะเลแคริบเบียนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติในฐานะพื้นที่พิเศษในบริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Special Area in the context of sustainable development)

นอกจากนี้ ในฐานะประเทศขนาดเล็ก รัฐบาลบาร์เบโดสเน้นการดำเนินนโยบายในกรอบพหุภาคีโดยการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระดับภูมิภาคไม่ว่าจะเป็น CARICOM ธนาคารเพื่อการพัฒนาแคริบเบียน (Carribean Development Bank - CDB) สมาคมรัฐแคริบเบียน (Association of Carribean States – ACS) เป็นต้น โดยภายใต้กรอบ CARICOM บาร์เบโดสให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในหมู่ประเทศสมาชิก รวมทั้งการแสวงหาจุดยืนร่วมกันของสมาชิก CARICOM ต่อความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศสมาชิกกับสหรัฐอเมริกาฯ และยุโรปด้วย

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบาร์เบโดสกับเอเชียแปซิฟิกยังไม่ใกล้ชิดนัก รัฐบาลบาร์เบโดสตระหนักถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับเอเชียแปซิฟิกทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคต


เศรษฐกิจการค้า

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -0.2 (2551)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 3,681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

รายได้ประชาชาติต่อหัว 14,422.4 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.1 (2551)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 8.1 (2551)

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ปิโตรเลียม ปลา ก๊าซธรรมชาติ เหมืองหิน

มูลค่าการส่งออก 551.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำตาล เหล้ารัม เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ไฟฟ้า

มูลค่าการนำเข้า 1,731.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าขั้นกลาง วัสดุก่อสร้าง เชื้อเพลิง สินค้าทุน

ประเทศคู่ค้า ตรินิแดดและโตเบโก โคลอมเบีย สหรัฐอเมริกา จาเมกา โคลอมเบีย จีนและบราซิล

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ
บาร์เบโดสประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากที่เคยพึ่งพิงการผลิตและส่งออกน้ำตาล มาเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งในระดับกลาง โดยมีการท่องเที่ยวและธุรกิจการเงินเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจบาร์เบโดสในช่วง 2 -3 ปีมานี้จึงค่อนข้างฝืดเคืองเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดหลัก ได้แก่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างมากเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวไม่ขยายตัว ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ การก่อสร้าง การพลังงาน การขนส่งซึ่งการขยายตัวขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงประสบภาวะฝืดเคืองตามไปด้วย อุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในระดับต่ำ จึงคาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานภายในบาร์เบโดสในปีนี้จะขยับตัวสูงขึ้นไปอีก

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบาร์เบโดส

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบาร์เบโดส

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป ไทยและบาร์เบโดสมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นแต่ไม่ใกล้ชิด ทั้งสองฝ่ายสถาปนาความสัมพันธ์กันเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 โดยฝ่ายไทย มีสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา เป็นจุดติดต่อราชการระหว่างไทยและบาร์เบโดส ส่วนฝ่ายบาร์เบโดสไม่มีผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย

การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างสองฝ่ายยังมีไม่มากนัก โดยมีการเยือนระดับพระราชวงศ์ เมื่อปี 2552 เมื่อครั้งที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเยือนบาร์เบโดส ระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาได้เสด็จเข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปีสมาคมราชทัณฑ์และเรือนจำระหว่างประเทศสมัยที่ 11 ณ กรุงบริดจ์ทาวน์ ประเทศบาร์เบโดส

นอกจากนี้ เมื่อปี 2548 ไทยจัดโครงการเชิญผู้แทนจากประเทศ CARICOM เยือนไทย เพื่อสร้างความรู้จักและความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับประเทศในแคริบเบียนให้มากขึ้น รวมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่บทบาทของไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือรายใหม่ ซึ่งบาร์เบโดสเป็นหนึ่งในสมาชิก CARICOM ที่ให้ความสนใจส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวในประเทศไทย

2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 5.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 0.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าบาร์เบโดสมูลค่า 5.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ข้าว ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ สินแร่โหละอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา

ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2553 (มกราคม-พฤศจิกายน) ได้ขยายตัวขึ้นเป็น 9.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกสินค้ามูลค่า 8.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้ามูลค่า 1.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าบาร์เบโดสถึง 7.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. การท่องเที่ยว

เมื่อปี 2552 ชาวบาร์เบโดสเดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 179 คน

4. ความร่วมมือทางด้านวิชาการ

ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในระดับทวิภาคี อย่างไรก็ดี ไทยดำเนินโครงการความร่วมมือด้านนี้กับบาร์เบโดส โดยการให้ทุนฝึกอบรมและทุนศึกษา ผ่านกรอบองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States-OAS) และประชาคมและตลาดร่วมแคริบเบียน (Carribean Community and Common Market-CARICOM) โดยเมื่อปี 2550 มีผู้แทนจากบาร์เบโดสได้รับทุนฝึกอบรมหลักสูตร Marine Aquaculture Development Training ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนฝึกอบรมนานาชาติประจำปี 2550 ที่ไทยเสนอให้กลุ่มประเทศสมาชิก CARICOM สำหรับเข้าร่วมอบรมในหลักสูตรดังกล่าว พร้อมกับตัวแทนจากประเทศสมาชิก CARICOM อื่นที่จังหวัดภูเก็ต

5. ความสัมพันธ์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

ไทยและบาร์เบโดสมีความสัมพันธ์ที่ดีในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนระหว่างกันในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ในองค์การระหว่างประเทศที่ไทยและบาร์เบโดสเป็นสมาชิก อาทิ การให้การสนับสนุนของไทยต่อบาร์เบโดสในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารองค์การอนามัยโลก วาระ ค.ศ. 2010-2013 ในขณะที่บาร์เบโดสให้เสียงสนับสนุนไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union – ITU) วาระปี ค.ศ. 2011-2014 ซึ่งไทยได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งดังกล่าว


ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กองลาตินอเมริกา

กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ