เอกวาดอร์

เอกวาดอร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,627 view


เอกวาดอร์
Republic of Ecuador

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทิศเหนือติดโคลอมเบีย ตะวันออกและใต้ติดเปรู และมีชายฝั่งทางตะวันตก ติดมหาสมุทรแปซิฟิก

พื้นที่ 276,840 ตารางกิโลเมตร

ภูมิอากาศ บริเวณชายฝั่งมีภูมิอากาศแบบเมืองร้อน บริเวณส่วนในของประเทศมีอากาศเย็นตามความสูงของภูมิประเทศ

เมืองหลวง กรุงกิโต (Quito)

ประชากร (2551) 13.5 ล้านคน

ภาษา ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ และภาษาของชาวอินเดียนพื้นเมือง เช่น Quechua และ Shuar ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 รับรองสถานะของทั้งสองภาษาเป็นภาษากึ่งราชการ (Semi-official status)

ศาสนา ร้อยละ 95 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก

เชื้อชาติ เมสติโซ (เลือดผสมระหว่างยุโรปกับชาวอินเดียนพื้นเมือง) ร้อยละ 65 ชาวอินเดียนพื้นเมือง ร้อยละ 25 คอเคเชียนและอื่น ๆ ร้อยละ 7 แอฟริกันร้อยละ 3

อัตราผู้รู้หนังสือ ร้อยละ 91

หน่วยเงินตรา ดอลลาร์สหรัฐ (เดิมใช้เงินสกุลซูเคร (Sucres) แต่ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2543)

วันชาติ 10 สิงหาคม (วันประกาศเอกราช)

สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ G-77, Non-Alignment Movement (NAM), Organization of American States (OAS), Union of the South American Nations (UNASUR), WIPO

เวลาแตกต่างจากไทย ช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง (-5 GMT)

การเมืองการปกครอง

รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยในระบอบสาธารณรัฐ

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุข มาจากการเลือกตั้ง ปัจจุบันคือ นาย ราฟาเอล โกเรอา (Rafael Correa) เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549 และได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อปี 2552 (การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2556)

ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นระบบสภาเดียว (Unicameral) มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 124 ที่นั่ง โดยมาจากการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และมีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี

ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีเป็นประมุขฝ่ายบริหารและประมุขรัฐ และคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี

ฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรมแห่งชาติซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาจำนวน 21 คน และศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลสูงสุดของประเทศ

พรรคการเมืองสำคัญ Alianza PAIS movement, Christian Democratic Pachakutik Plurinational Unity Movement, Patriotic Society Party, Popular Democratic Movement Roldosist Party, Social Christian Party, Socialist Party - Broad Front

สถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ
ประธานาธิบดีราฟาเอล โกเรอา ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีแนวคิดแบบสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ให้ความสำคัญกับการให้สวัสดิการสังคม และการเพิ่มบทบาทรัฐในการบริหารกิจการภาคพลังงานและการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ แนวทางดังกล่าวสร้างความชื่นชอบให้กับประชาชน ส่งผลให้ได้รับคะแนนนิยมอย่างสูง และกลายเป็นประธานาธิบดีที่มีอำนาจมากที่สุดนับตั้งแต่มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในเอกวาดอร์

เมื่อปี 2551 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเอกวาดอร์ นำไปสู่การปฏิรูปประเทศเอกวาดอร์ในหลายๆ ด้าน อาทิ ระบบตุลาการ โดยการเพิ่มศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีอำนาจสูงสุด แทนที่ศาลฎีกา ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นศาลยุติธรรมแห่งชาติ ระบบนิติบัญญัติ แม้จะรักษาระบบสภาเดียวไว้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพิ่มอำนาจให้ประธานาธิบดีสามารถยุบสภาได้ในช่วง 3 ปีแรกของวาระการดำรงตำแหน่ง และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เพิ่มอำนาจรัฐในการบริหารทรัพยากรหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน พลังงาน และการสื่อสารโทรคมนาคม อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองภายในของเอกวาดอร์ ที่ยังมีปัญหาการขาดเสถียรภาพของสถาบันต่างๆ ซึ่งมักถูกการเมืองแทรกแซง รวมทั้งปัญหาฉ้อราษฎร์บัวหลวงได้

นโยบายต่างประเทศ

เอกวาดอร์เน้นการดำเนินนโยบายในกรอบพหุภาคี โดยเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ Rio Group, UNASUR, OAS, Andean Community เป็นต้น นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลนายโกเรอา เน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั้งในลาตินอเมริกา ยุโรป และเอเชียอย่างหลากหลาย เพื่อลดการพึ่งพาพันธมิตรเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักและเคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเอกวาดอร์มาก่อนหน้านี้
ในแง่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เอกวาดอร์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโกเรอา มีความใกล้ชิดกับเวเนซุเอลา และโบลิเวีย เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกัน ในขณะที่ความสัมพันธ์กับโคลอมเบีย ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากมีการกระทบกระทั่งกันตามบริเวณชายแดน โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ เมื่อปี 2551 ซึ่งทหารโคลอมเบียบุกรุกอธิปไตยเอกวาดอร์ ระหว่างปฏิบัติการทางทหารในการปราบปราบกลุ่ม FARC ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้ายในโคลอมเบีย จนนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับโคลอมเบีย แต่ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาในระดับอุปทูตแล้ว
ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียนั้น ในระดับทวิภาคี เอกวาดอร์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน และต้องการเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ โดยได้เสนอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำอาเซียน และแสดงความประสงค์ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกเอเปคด้วย

เศรษฐกิจการค้า

อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2552) ร้อยละ 0.36

ผลิตภัณฑ์มวลชนรวมภายในประเทศ (2552) 61.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายได้ประชาชาติต่อหัว (2551) 3,961 ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราเงินเฟ้อ (2552) ร้อยละ 3.5

อัตราการว่างงาน (2552) ร้อยละ 7.9

ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียม ปลา กุ้ง ไม้ ทองแดง

อุตสาหกรรม น้ำมัน การแปรรูปอาหาร สิ่งทอ งาน โลหะ กระดาษ ไม้ เคมีภัณฑ์ ประมง

เกษตรกรรม กล้วย กาแฟ โกโก้ ปลา กุ้ง ข้าว มันฝรั่ง มันสำปะหลัง อ้อย ปศุสัตว์

มูลค่าการนำเข้า (2552) 14.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้านำเข้า (2552) สินค้าอุตสหากรรม น้ำมันหล่อลื่น สินค้าอุปโภคบริโภค ยานพาหนะ อุปกรณ์ขนส่ง ยา เครื่องมือโทรคมนาคม ไฟฟ้า

มูลค่าการส่งออก (2552) มูลค่า 14.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าออก (2552) น้ำมันปิโตรเลียม กล้วย ดอกไม้ กุ้ง โกโก้ กาแฟ

ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐอเมริกา ประเทศต่าง ๆ ในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ประเทศกลุ่มประชาคมแอนเดียน สหภาพยุโรป

สถานการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ
การยกเลิกเงินสกุลซูเครเมื่อปี 2543 และหันไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราประจำชาติทำให้เศรษฐกิจเอกวาดอร์มีความมั่นคงขึ้นมากขึ้น โดยช่วงปี 2543-2549 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเอกวาดอร์ขยายตัวประมาณร้อยละ 4.9 ต่อปี ซึ่งมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และการเพิ่มสูงขึ้นของความต้องการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกสินค้าประเภท Non – traditional และเงินรายได้จากชาวเอกวาดอร์ที่ไปทำงานต่างประเทศส่งกลับบ้าน

อย่างไรก็ดี วิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจเอกวาดอร์ชะลอตัวลง โดยการลงทุนจากต่างประเทศและอุปสงค์การบริโภคภายในลดลง ทำให้ปี 2552 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอกวาดอร์ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.36 เท่านั้น
ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ปริมาณการผลิตน้ำมันของเอกวาดอร์ลดลง เนื่องจากบริษัทผู้รับสัมปทาน ไม่มีความมั่นใจในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกระแสที่ชี้ว่ารัฐบาลอาจยึดกิจการน้ำมันไปเป็นของรัฐ นอกจากนี้ บริษัทน้ำมันที่รัฐเป็นเจ้าของก็ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงาน ทำให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับความต้องการน้ำมันของโลกที่ลดลง ได้สร้างภาวะการขาดดุลงบประมาณ และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของเอกวาดอร์ เพราะเศรษฐกิจเอกวาดอร์พึ่งพิงการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมอย่างมาก อุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมสร้างรายได้ให้รัฐบาลราวร้อยละ 30-40 ต่อปี และมีมูลค่าร้อยละ 25-30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอกวาดอร์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเอกวาดอร์

ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับเอกวาดอร์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2523 ปัจจุบัน สาธาณรัฐเอกวาดอร์อยู่ในเขตอาณาความดูแลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา และมีนาย Luis A. Garcia Jara เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยประจำเอกวาดอร์ ในส่วนของเอกวาดอร์ ได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำสาธารณรัฐมาเลเซีย เป็นเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำประเทศไทยอีกตำแหน่ง และมีนายยง อารีเจริญเลิศ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเอกวาดอร์ประจำประเทศไทยแม้ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายไม่ใกล้ชิดนัก แต่มีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันในระดับสูงเป็นครั้งคราว ดังนี้

ฝ่ายไทย
ราชวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนเอกวาดอร์อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2536

นิติบัญญัติ
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเดินทางเยือนเอกวาดอร์อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2547

ฝ่ายเอกวาดอร์
นายอันเดรส ปาเอซ เบนัลกาซาร์ (Andres Paez Benalcazar)สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการด้านสังคมและแรงงานเยือนไทยเมื่อปี 2548

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็น 195.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 40.50 ไทยส่งออกไปเอกวาดอร์มูลค่า 191.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 40.48) และนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 4.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 41.31) ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้า 187.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เอกวาดอร์เป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา (รองจากบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลีและโคลอมเบีย)

สินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผัก ผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์

ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อปี 2552 มีชาวเอกวาดอร์เดินทางมาประเทศไทยจำนวน 647 คน อนึ่ง เมื่อปี 2551 รัฐบาลเอกวาดอร์ได้ประกาศยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางทุกสัญชาติ โดยจะได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไม่เกิน 90 วันภายในเวลา 1 ปี แต่ต้องถือหนังสือเดินทางที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน มีบัตรโดยสารไป-กลับ แสดงวันเดินทางถึงและออกจากประเทศ และหลักฐานแสดงว่ามีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายระหว่างพำนักในเอกวาดอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของเอกวาดอร์อาจขอตรวจ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง

ความสัมพันธ์ในองค์การระหว่างประเทศ

ไทยและเอกวาดอร์ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีในองค์การระหว่างประเทศ โดยมีการแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุนในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ การแลกเสียงในตำแหน่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทั้งสองประเทศสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกันในวาระปี 2010-2013
นอกจากนี้ ไทยและเอกวาดอร์ต่างเป็นสมาชิกของเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกกับลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin America Cooperation – FEALAC) ซึ่งเอกวาดอร์ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในโครงการต่างๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เช่น โครงการบัวแก้วสัมพันธ์-ลาตินอเมริกา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย รวมทั้งโครงการหลวงดอยอินทนนท์และโรงคัดแยกและบรรจุผลผลิตโครงการหลวงเมื่อกลางปี 2549 อีกทั้งได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือด้านยาเสพติดเมื่อปี 2548 ภายใต้กรอบ FEALAC ด้วย

ความตกลงที่สำคัญๆ กับไทย

ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเพื่อยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จจะเป็นความตกลงฉบับแรกที่ไทยมีกับเอกวาดอร์



---------------------


กองลาตินอเมริกา
กรกฎาคม 2553




กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0 26435000 ต่อ 13042, 13044, 13079, 13010 Fax. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ