เอเชีย-แปซิฟิกหารือเพื่อกระชับความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค

เอเชีย-แปซิฟิกหารือเพื่อกระชับความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ค. 2566

| 13,322 view

เมื่อวันที่ ๑๕ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ ๗๙ (79th Commission Session: CS79) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก “Accelerating climate action in Asia and the Pacific for sustainable development”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงพิเศษในพิธีเปิดการประชุมฯ ผ่านทางวิดีทัศน์ เน้นความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของไทยผ่านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค พร้อมยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo ปี ๒๕๗๑ ณ จังหวัดภูเก็ต

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานการประชุม CS78 เปิดการประชุม CS79 โดยกล่าวชื่นชมการดำเนินงานของเอสแคปในห้วงปีที่ผ่านมา และย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค รวมทั้งการสะท้อนเสียงของประเทศในภูมิภาคในเวทีระดับโลก พร้อมกันนี้ ได้ส่งมอบหน้าที่ประธานการประชุม CS79 ให้นาง Fekitamoeloa Katoa ‘Utoikamanu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวตองกา

นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความต้านทานของชุมชนและประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การยกระดับเงินทุน สร้างเสริมศักยภาพ เเละถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งได้ย้ำถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะแนวทางการพัฒนาของไทย ซึ่งได้รับการต่อยอดโดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการร่วมมือกับประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีบนพื้นฐานของแนวทางการพัฒนาดังกล่าวของไทย

ในโอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศและเอสแคปเป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรองอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมการประชุม CS79 โดยมีผู้แทนระดับสูงที่เข้าร่วมงาน อาทิ นาย Mark Stephen Brown นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะคุกและประธานการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum: PIF) นาย Surangel S. Whipps, Jr. ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐปาเลา และนาง Fiame Naomi Mata’afa นายกรัฐมนตรีของรัฐเอกราชซามัว ทั้งนี้ ภายในงานมีการแสดงวัฒนธรรมไทย และการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย และความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพ Phuket Expo 2028

ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่ประชุม CS79 ได้รับรองข้อมติและข้อตัดสินใจจำนวน ๑๑ ฉบับ โดยที่ประชุมฯ เห็นพ้องให้มีจัดการประชุมประจำปีของเอสแคป สมัยที่ ๘๐ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๖ เมษายน ๒๕๖๗ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก Leveraging digital innovation for sustainable development in Asia and the Pacific ก่อนปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ

เอสแคปเป็น ๑ ใน ๕ คณะกรรมาธิการระดับภูมิภาค (regional commission) ของสหประชาชาติ มีประเทศสมาชิกจำนวน ๕๓ ประเทศ และสมาชิกสมทบ ๙ ดินแดน ถือเป็นคณะกรรมาธิการระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในระบบสหประชาชาติ และเป็นกลไกพหุภาคีหลักในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีความครอบคลุมมากที่สุด

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ