นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ย้ำความเป็นพันธมิตรไทย - สหรัฐฯ และความพร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

นายกรัฐมนตรีพบหารือทวิภาคีกับรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ย้ำความเป็นพันธมิตรไทย - สหรัฐฯ และความพร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ย. 2565

| 9,642 view

เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย. ๒๕๖๕ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับและพบหารือทวิภาคีกับนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๐ พ.ย. ๒๕๖๕ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงความยินดีกับบทบาทนำและความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และย้ำความมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อสานต่อความร่วมมือในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปีหน้าต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณฝ่ายสหรัฐฯ สำหรับการสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และย้ำความพร้อมของไทยในการสนับสนุนวาระเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ

ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐฯ อันใกล้ชิดที่มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และย้ำความมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค บนพื้นฐานค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะตามแถลงการณ์ไทย – สหรัฐฯ ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และในโอกาสครบรอบ ๑๙๐ ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๖

ในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการค้าไทย - สหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งสะท้อนถึงห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง และทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานตามบันทึกความเข้าใจไทย – สหรัฐฯ ว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานที่ได้จัดทำเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความพร้อมส่งเสริมการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร

ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความคืบหน้าของความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสภาพภูมิอากาศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายยังได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม Net Zero World ซึ่งสหรัฐฯ จะสนับสนุนไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และความร่วมมือเสริมสร้างขีดความสามารถด้านพลังงานสะอาดผ่านโครงการ FIRST (Foundational Infrastructure for Responsible Use of Small Modular Technology)

นายกรัฐมนตรีและรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังได้หารือถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายทั้งในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนความร่วมมือเพิ่มขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติดตามแนวชายแดน การเพิ่มศักยภาพการลาดตระเวนของตำรวจน้ำ และการต่อต้านการฟอกเงิน

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศและพัฒนาการที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งไทยสนับสนุนการเพิ่มปฏิสัมพันธ์และ
ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของสหรัฐฯ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy) และกรอบหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง - สหรัฐฯ (Mekong – U.S. Partnership) เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในอนุภูมิภาค โดยสหรัฐฯ มีแผนที่จะขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก ๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในอนุภูมิภาคผ่านหุ้นส่วนด้านพลังงานแม่น้ำโขงระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-U.S. Mekong Power Partnership) หรือ JUMPP

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ